สถาบันสิรินธร เป็นคำเรียกสั้นๆที่ติดปากประชาชนทั่วไป แต่ความจริงแล้วสถาบันแห่งนี้มีชื่อเต็มๆว่า สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ จัดเป็นศูนย์วิชาการ อยู่ในสังกัดกรมการแพทย์
ก่อตั้งอย่างเป็นทางการ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 จากพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปัจจุบันนี้ สถาบันสิรินธร ได้ผลักดันตัวเองให้ก้าวสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นเลิศทางด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ซึ่งมีสมรรถนะสูง โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างคุณภาพชีวิตอันดีงาม ของผู้พิการผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
เพราะทางสถาบันสิรินธรให้ความสำคัญในการการฟื้นฟูสมรรถภาพมาก เนื่องจากมันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่สามารถนำคนพิการกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคนพิการที่เข้ารับการรักษา จะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งในเรื่องของการแพทย์ , การศึกษา , อาชีพ รวมทั้งสังคม โดยมีจุดประสงค์หลัก คือ เพื่อให้พวกเขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด ช่วยลดภาระแก่ครอบครัวและสังคมให้น้อยที่สุด จนอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับบุคคลอื่น
การก่อสร้างสถาบันเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2535 ตอนแรกประสบปัญหาค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะทั้งการขาดแคลนบุคลากร หรือภารกิจทางวิชาการ จึงทำให้การบริหารจัดการก่อตัวขึ้นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ในปี พ.ศ. 2537 สถาบันสิรินธรได้เปลี่ยนมาอยู่อาคารใหม่ซึ่งเป็นอาคาร ณ ปัจจุบันนี้ ทางด้านฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ก็ได้เริ่มต้นในปีพ.ศ.2537 จากการเปิดบริการให้แก่ผู้ป่วยนอก ต่อมาบริการผู้ป่วยในก็เปิดให้บริการปี พ.ศ. 2538 จากเริ่มต้นมีเตียง 30 เตียง และได้เพิ่มจำนวนเป็น 48 เตียง ในปี พ.ศ. 2539
บริการหลักและขอบเขตการให้บริการของสถาบันสิรินธร
- ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายและการใช้ชีวิตทั่วไปสำหรับผู้ป่วยที่เป็นผู้พิการ อันประกอบไปด้วยงานบริการ ได้แก่ งานบริการผู้ป่วยนอก , งานบริการผู้ป่วยใน , ทำกายภาพบำบัด , สร้างเสริมกิจกรรมบำบัด , งานกายอุปกรณ์ , งานแก้ไขการพูด , งานฟื้นฟูสมรรถภาพเด็ก , ส่งเสริมการฝึกทักษะให้แก่คนพิการ , ศูนย์สาธิตอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการ รวมทั้งงาน Daycare
- ช่วยส่งเสริมผลักดันกฎหมายแก่คนพิการรวมทั้งพัฒนาสิทธิคนพิการ เช่น การผลักดันให้เกิดมาตรา 20(1) หรือพรบ.ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ ปีพ.ศ.2550 , คอยติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในหัวข้อ การเข้าถึงบริการสุขภาพคนพิการอย่างเท่าเทียม
ให้การสนับสนุนเพื่อให้เกิดการดำเนินงานเพื่อช่วยในการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการทางการเคลื่อนไหว จากการขอความร่วมมือจากชุมชน เริ่มตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล , โรงพยาบาลชุมชน รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อีกทั้งยังมีการจัดหน่วยบริการคนพิการเคลื่อนที่ไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย